สำหรับบทนี้ เราก็จะพูดถึงความรู้พื้นฐาน รวมถึงคำสำคัญที่ควรรู้ในการต่อวงจรไฟฟ้าด้วย ก่อนจะประกอบวงจรแรกกัน สำหรับเนื้อหาที่สอน จะสอนครอบคลุมเฉพาะไฟฟ้ากระแสตรงเท่านั้นนะครับ ขอเริ่มเลยละกัน
วงจรไฟฟ้า
วงจรไฟฟ้า ก็คือ เส้นทางการไหลของกระแสไฟฟ้า ซึ่งไหลจากขั้วบวก ไปขั้วลบ ไหลจากจุดที่มีแรงดันสูง ไปยังจุดที่มีแรงดันต่ำกว่า ซึ่งกระแสที่ว่ามานี้ เป็นกระแสสมมติ ที่ใช้ในการศึกษาวงจรไฟฟ้าเท่านั้นเองซึ่งเราจะไม่พูดถึงการไหลของอิเล็คตรอน เพราะอาจจะทำให้สับสนได้ เนื่องจากอิเล็คตรอนจะไหลในทิศตรงข้ามกับกระแสสมมติ ก็ขอให้เข้าใจไว้ในที่นี้
วงจรไฟฟ้า สามารถเขียนเป็นผังวงจร เพื่อแสดงการเชื่อมต่อของอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์แต่ละตัว โดยใช้เส้นแทนการเชื่อมต่อ และสัญลักษณ์แทนตัวอุปกรณ์ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ และความเป็นสากล
ส่วนประกอบหลักของวงจรไฟฟ้า คือแหล่งจ่าย และโหลด พูดง่ายๆก็คือ แหล่งจ่ายจะเป็นตัวให้พลังงาน และโหลดจะเป็นตัวใช้พลังงานนั่นเอง
ในทางทฤษฎี แหล่งจ่ายมีสองประเภท คือแหล่งจ่ายกระแส และแหล่งจ่ายแรงดัน แต่ในทางปฏิบัติ ส่วนใหญ่จะใช้แหล่งจ่ายแรงดันมากกว่า ดังนั้นก็ขออธิบายแค่แหล่งจ่ายแรงดันก็แล้วกันนะครับ
แหล่งจ่ายแรงดัน
คือสิ่งที่จ่ายแรงดันคงที่แก่โหลดเช่น จากพอร์ต usb มีแรงดัน 5.0v เป็นต้น หรืออาจมาจากวงจรแหล่งจ่ายไฟก็ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อควรจำหรือ แหล่งจ่ายแรงดัน คืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดความต่างศักย์คงที่ระหว่างขั้วทั้งสอง ซึ่งความต่างศักย์ มีหน่วยเป็นโวลต์ (volt)
![]() |
สัญลักษณ์ของแหล่งจ่ายแรงดัน |
จากแนวคิดตรงนี้นะครับ เราจะต้องรู้กฏอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ
"จุดที่เชื่อมต่อกันทางไฟฟ้า จะมีแรงดันไฟฟ้าเท่ากัน"
เมื่อเรานำแหล่งจ่ายสองอันมาอนุกรมกันดังรูป เราจะเห็นว่า มีจุดที่เชื่อมต่อกัน ทำให้มีแรงดันเท่ากัน นับเป็นจุดเดียวกันได้ นั่นคือ จุด B
เมื่อจุด A มากกว่า B อยู่ 5V และจุด B มากกว่า C อยู่ 5V หรือคิดง่ายๆเป็นสมการจะได้ a = b+5 และ b = c + 5 เมื่อนำมารวมกัน จะได้ a = c + 10 นั่นคือความต่างศักย์ระหว่าง a และ c คือ 10V
ถ้าหากไม่มีจุดเชื่อมถึงกัน เราจะไม่สามารถอ้างอิงแรงดันได้ ดังรูปด้านล่างนี้
เราจะบอกได้เพียงว่า A มากกว่า B อยู่ 5 และ C มากกว่า D อยู่ 5 แต่เราจะไม่พบความสัมพันธ์ของแรงดันของแหล่งจ่ายทั้งสอง
โหลด (ภาระทางไฟฟ้า)
โหลด หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่าภาระ ผมว่ามันดูแปลกๆ เรียกโหลดละกัน มีหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้า ไปเป็นพลังงานรูปแบบอื่น เช่น พลังงานกล พลังงานแม่เหล็ก เสียง แสง หรือ ความร้อน ซึ่งก็หมายความว่า สิ่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะเป็นโหลดของวงจรทั้งหมด เช่นหลอดไฟ ลำโพง มอเตอร์ หรือขดลวดความร้อน เป็นต้น
โดยทั่วไปโหลดนั้นจะมีสภาพต้านทานไฟฟ้า คือยอมให้กระแสไหลผ่านได้จำกัด ต่อความต่างศักย์คงที่ นั่นคือยิ่งความต้านทานมาก กระแสจะไหลผ่านได้น้อยลง ภายใต้ความต่างศักย์คงที่ ดังนั้นเราจึงสามารถแทนโหลดด้วยตัวต้านทานที่มีค่าคงที่ได้ ซึ่งตัวต้านทานนี้ มีหน่วยเป็น โอห์ม (Ohm) หรือเขียนด้วยอักษรกรีกตัวโอเมก้าก็ได้
![]() |
สัญลักษณ์ตัวต้านทาน สามารถเขียนได้ทั้งสองแบบ |
![]() |
ตัวโอเมก้า เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยความต้านทาน (Ohm) |
ปริมาณทางไฟฟ้าเบื้องต้นและความสัมพันธ์
ปริมาณทางไฟฟ้าเบื้องต้นมีทั้งหมด 3 ปริมาณ คือความต่างศักย์ กระแสไฟฟ้า และความต้านทาน โดย
V แทนความต่างศักย์หน่วยเป็นโวลต์ ยิ่งเพิ่มขึ้น ยิ่งดันกระแสไฟฟ้าผ่านความต้านทานได้มากขึ้น
R แทนความต้านทาน หน่วยเป็นโอห์ม จะเป็นตัวต้านการไหลของกระแส ยิ่งเพิ่มขึ้น กระแสจะผ่านได้น้อยลง
I แทนกระแส หน่วยเป็นแอมแปร หรือ แอมป์ คือปริมาณประจุไฟฟ้าที่ไหลผ่าน ต่อเวลา
ซึ่งจะสามารถสรุปความสัมพันธ์ได้ตามกฏของโอห์ม กล่าวคือ
"กระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านตัวนำใดใด จะแปรผันตรงกับความต่างศักย์ และแปรผกผันกับความต้านทาน"
จากนิยาม เราสามารถสรุปเป็นสมการได้ว่า
เมื่อเรานำแหล่งจ่ายแรงดัน และโหลด มาต่อรวมกันเป็นวงจรไฟฟ้าที่สมบูรณ์ดังรูป
จากที่กำหนดแหล่งจ่ายแรงดัน 5V ทำให้เกิดความต่างศักย์ขึ้นที่ขั้วทั้งสองของตัวต้านทาน 1000 Ohm (เรียกว่าความต่างศักย์ตกคร่อม) ทำให้สามารถคำนวณกระแสที่ไหลผ่านได้เป็น 0.005 แอมป์ หรือ 5 มิลลิแอมป์ นั่นเอง (มิลลิ = 1 ส่วน 1000) เนื่องจากการไหลของกระแสคือการเคลื่อนที่ของประจุ ที่เคลื่อนที่ออกจากขั้วบวกของแหล่งจาก ผ่านตัวต้านทาน แล้วไปยังขั้วลบ จะเห็นว่ากระแสออกไปเท่าไหร่ ก็จะกลับเข้ามาเท่านั้น ซึ่งก็เท่ากับกระแสที่ไหลผ่านตัวต้านทานด้วย
วงจรขนานตัวต้านทาน
เมื่อเรานำตัวต้านทานมาต่อขนานกันดังรูป ตัวต้านทานแต่ละตัวมีความต่างศักย์ตกคร่อมเท่ากัน คือ 5V และค่าความต้านทานเท่ากัน คือ 1 kiloohm (kilo- หมายถึง 1000) ซึ่งเราได้คำนวณจากวงจรที่แล้วว่าจะมีกระแสไหลผ่านตัวต้านทานแต่ละตัว 5 มิลลิแอมป์ เราจะได้การไหลของกระแสดังรูป
จะเห็นว่า เมื่อกระแสที่ไหลผ่านตัวต้านทาน (แทนด้วย I1 และ I2) ออกมาจากจุดเดียวกัน ดังนั้น กระแสที่ไหลออกจากแหล่งจ่าย(และมีค่าเท่ากับกระแสที่ไหลเข้าแหล่งจ่ายด้วย) จะมีค่าเท่ากับ I1 + I2 = 10 มิลลิแอมป์
จากข้อมูลข้างต้น เมื่อมีกระแส 10 มิลลิแอมป์ โดยที่โหลดมีความต่างศักย์ตกคร่อมแล้ว เราสามารถคิดกลับจาก I = V/R ได้เป็น R = V/I จะได้ R = 5 / 0.01 = 500 Ohm นั่นคือการต่อโหลดขนานกันสองตัว สามารถมองเป็นโหลดเดียวได้ โดยคิดจากกระแสที่ไหลผ่านตัวต้านทานแต่ละตัว นำมารวมกัน แล้วหาค่าความต้านทานจากความต่างศักย์ส่วนด้วยกระแส จะได้ค่าความต้านทานใหม่ที่เป็นผลรวมของการต่อขนานกัน
วงจรอนุกรมตัวต้านทาน
เมื่อเรานำตัวต้านทานมาต่ออนุกรมกันดังรูป เราจะเห็นว่าตัวต้านทานได้ขวางการไหลของกระแสสองครั้ง นั่นคือค่าความต้านทานรวมของโหลดจะกลายเป็นผลรวมของค่าความต้านทาน ในที่นี้คือ 2KOhm ซึ่ง ทำให้เราสามารถคำนวณกระแสที่ไหลในวงจรได้ I = V / R = 5 / 2000 = 2.5 มิลลิแอมป์
เนื่องจากมีกระแสที่ไหลในวงจรเพียงเส้นเดียว ทำให้เรารู้ว่า กระแสที่ไหลผ่านตัวต้านทานแต่ละตัวคือ 2.5 มิลลิแอมป์ เมื่อเราหาความต่างศักย์ที่ตกคร่อมตัวต้านทานแต่ละตัว โดยคิดกลับจาก I = V/R ได้เป็น V = I R จะได้ V = 0.0025 x 1000 จะได้ 2.5 โวลต์ ดังภาพ
เราสามารถกำหนดขั้วของความต่างศักย์โดยพิจารณาจากทิศทางการไหลของกระแส (บวกไปลบ)
การอ้างอิงแรงดัน
เป็นสิ่งที่กำหนดขึ้น เพื่อความสะดวก ในการทำงานกับแรงดันหลายๆระดับ จากที่เรารู้มาแล้วว่าความต่างศักย์ คือความต่างของแรงดันสองจุด แต่เราบอกไม่ได้ว่าแต่ละจุดนั้นมีแรงดันเท่าไหร่ เราจึงกำหนดจุดเทียบขึ้นมา นั่นคือ กราวน์ (Ground) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 0V
![]() |
สัญลักษณ์ กราวน์ |
หมายความว่า จุดใดๆก็ตามที่เชื่อมกับกราวน์ จะมีแรงดันเท่ากับ 0V ยกตัวอย่างเช่น จากวงจรที่แล้ว ถ้าเราเพิ่ม กราวน์เข้าไปในระบบ ดังรูป
เราจะสามารถหาค่าแรงดันแต่ละจุดได้ดังนี้
เนื่องจากขั้วลบของแหล่งจ่ายต่ออยู่กับกราวน์ ทำให้มีแรงดันเป็น 0Vจุด C ก็มีแรงดัน 0V เช่นกัน เพราะเชื่อมต่อกับกราวน์ ส่วนขั้วบวกของแหล่งจ่ายมีแรงดันมากกว่าขั้วลบอยู่ 5V ทำให้มีแรงดัน 5V ซึ่งเชื่อมต่อไปยังจุด A ทำให้จุด A มีแรงดัน 5V ด้วย สำหรับจุด B สามารถคิดได้สองแบบคือ
คิดจากตัวต้านทานตัวล่าง ซึ่งมีความต่างศักย์ตกคร่อม 2.5V นั่นคือ จุด B มีแรงดันมากกว่าจุด C อยู่ 2.5 (ดูรูปที่แล้วประกอบ) เนื่องจากจุด C มีแรงดัน 0V ทำให้จุด B มีแรงดัน 2.5V หรือคิดจากตัวต้านทานตัวบนคือ จุด B มีแรงดันน้อยกว่าจุด A อยู่ 2.5 จุด A มีแรงดัน 5V จุด B จะมีแรงดันเท่ากับ 5 - 2.5 = 2.5V
นอกจากนี้ กราวน์ยังช่วยลดเส้นการเชื่อมต่อในวงจร โดยจุดที่เป็นกราวน์แต่ละจุด จะถือว่าเชื่อมต่อกันทั้งหมด หรือเป็นจุดเดียวกันนั่นเอง จากรูปนี้ กระแสไฟฟ้าสามารถไหลได้ครบวงจร
สำหรับแรงดันอื่นๆที่ไม่ใช่ 0V ก็สามารถอ้างอิงได้ และแรงดันที่เท่ากัน จะเชื่อมต่อถึงกันดังรูป กระแสไฟฟ้าสามารถไหลได้ครบวงจรตามปกติ เพราะจุดอ้างอิงที่มีแรงดันเท่ากันจะถือว่าเชื่อมต่อถึงกัน
เมื่อเรากำหนดแรงดันอ้างอิงไว้แล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องแสดงแหล่งจ่ายแรงดันไว้ก็ได้ เพราะสามารถเข้าใจได้ว่า วงจรนั้นทำงานด้วยแรงดันที่กำหนดไว้
ก็ขอจบบทที่สองเพียงเท่านี้ เป็นทฤษฏีล้วนๆเลย อาจจะน่าเบื่อไปสักหน่อย ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ เพราะพื้นฐานทางไฟฟ้าตรงนี้มันสำคัญจริงๆในการประยุกต์ใช้ในอนาคต สำหรับสัญลักษณ์ของกราวน์ และแรงดัน สามารถเขียนได้หลายแบบมากๆ ผมก็ขอหยิบยกมาใช้ในบล็อกเพียงเท่านี้นะครับ เกรงว่ามันจะเยอะเกินไปสำหรับผู้ศึกษาใหม่ ผมก็พยายามนำมาเฉพาะจุดสำคัญ พยายามย่อ ตัด สรุปให้กระชับ อาจจะขาดตกบกพร่อง หรือผิดพลาดบ้าง ก็ขอให้ทักท้วงด้วยนะครับ เจอกันบทหน้าครับผม ^___^"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น